ไซยาไนด์ (Cyanide) สารพิษอันตรายถึงชีวิต
ไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง รู้จักมานานตั้งแต่ในอดีต พบได้ในหลายรูปแบบได้แก่ ภาวะก๊าซ hydrogen cyanide เกิดจากการเผาไหม้สารพลาสติก polyurethane และหนังเทียม เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในผู้เคราะห์ร้ายในเพลิงไหม้ สารละลายเช่น potassium cyanide พบในมันสำปะหลังดิบ ลูก peach เมื่อรับประทานเข้าไปจะถูก metabolized และให้ cyanide ออกมาสู่ร่างกาย
เภสัชจลนศาสตร์และฤทธิ์วิทยา Cyanide ทำให้เกิดภาวะพร่อง oxygen ในระดับ cell (histotoxic anoxia) โดยจับกับ ferric ion (Fe3+) ใน cytochrome oxidase มีผลให้ขบวนการ electron transport ในการหายใจแบบใช้ oxygen ถูกยับยั้ง เกลือ sodium หรือ potassium ของ cyanide ขนาด 200 mg สามารถทำให้เสียชีวิตได้
อาการทางคลินิก
ผู้ป่วยมักจะเริ่มปรากฏมีอาการหลังจากได้ cyanide ในเวลาสั้นๆ เริ่มจากปวดศีรษะ ใจสั่น หน้าแดง หมดสติ ชัก และอาจจะเสียชีวิตภายในเวลา 10 นาที ในรายที่รุนแรงน้อยกว่าจะกดการทำงานของระบบประสาทและการหายใจ ภาวะเป็นกรดในเลือด (metabolic acidosis) จะปรากฏให้เห็นในเวลาต่อมา ตรวจร่างกายพบผู้ป่วยตัวแดง สีบริเวณเยื่อบุแดงคล้ายคนปกติ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยหยุดหายใจก็ตาม
การวินิจฉัย
ในรายที่มีประวัติหมดสติอย่างรวดเร็วร่วมกับการมีภาวะเป็นกรดในเลือด จะต้องคิดถึงภาวะเป็นพิษจาก cyanide ควรตรวจ fundi ถ้าพบสีของ retinal vein ใกล้เคียงหรือเหมือนกับ retinal artery จะเป็นอาการแสดงที่ช่วยสนับสนุน การตรวจวัดระดับ cyanide ในเลือดช่วยยืนยันการวินิจฉัย
การรักษา
การรักษาแบบประคับประคอง ระวังเรื่องการหายใจ ถ้าผู้ป่วยมีภาวะหายใจล้มเหลวต้องช่วยหายใจ
การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับไซยาไนด์
- สัมผัสทางผิวหนัง ก่อนทำการปฐมพยาบาลผู้ป่วยต้องสวมถุงมือป้องกัน ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดและนำออกจากลำตัว โดยวิธีนี้จะช่วยให้เสื้อผ้าที่ปนเปื้อนไม่สัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสเสื้อผ้าโดยตรงเพราะอาจได้รับสารพิษด้วย จากนั้นทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด แล้วนำส่งแพทย์ทันที
- การสูดดมและรับประทาน หากสูดดมอาการที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อน ให้รีบออกจากพื้นที่บริเวณนั้น ควรให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจน และอากาศบริสุทธิ์ ถ้าไม่สามารถออกได้ให้ก้มต่ำลงพื้น หากผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือผายปอดเพื่อหลีกเลี่ยงการรับพิษ
- การสัมผัสทางดวงตา ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก และใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องอย่างน้อย 10 นาที และรีบไปโรงพยาบาลทันที
สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อพบผู้ป่วยที่ได้รับพิษของไซยาไนด์ไม่ว่าจะทางใดก็ตามคือการรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะหากได้รับในปริมาณมากจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว
วิธีการหลีกเลี่ยงและลดโอกาศการสัมผัสกับไซยาไนด์
- งดสูบบุหรี่
- เก็บภาชนะที่บรรจุสารเคมีภายในบ้านให้มิดชิดและเหมาะสม
- ผู้ที่ทำงานกับสารเคมี ควรใช้ภาชนะรองรับสารเคมีที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งอาจช่วยให้ได้รับสารพิษน้อยลงหากเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงลดโอกาสสัมผัสและการสูดดมลงด้วย
- ติดตั้งเครื่องดักจับควัน เนื่องจากไซยาไนด์ อาจมาในรูปแบบควันได้
- สวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งเมื่อต้องทำงานกับสารเคมี
- ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับสารพิษสูง ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ
อ้างอิงข้อมูล